CAC เป็น platform ให้ภาคธุรกิจสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ ซึ่งการดึงให้องค์กรในภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม และช่วยให้องค์กรต่างๆสามารถกำหนดนโยบายและกลไกป้องกันคอร์รัปชันจะส่งผลโดยตรงต่อการลดความเสี่ยงของปัญหาสินบน ทั้งนี้ จากโมเมนตั้มของกระแสการต่อต้านคอร์รัปชัน และการที่มีบริษัทเอกชนทุกประเภทและทุกขนาดเข้ามาเป็นแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ CAC ก็หวังว่าจะสามารถสร้างให้เกิด critical mass และก่อให้เกิดแรงกดดันต่อผู้ประกอบการอื่นๆ ในภาคธุรกิจให้ยกระดับมาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชันให้ขึ้นมาอยู่ระดับเดียวกับสมาชิก CAC เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ของแต่ละอุตสาหกรรมหันมาทำธุรกิจสะอาด ปราศจากการจ่ายสินบนแล้วก็จะทำให้ภูมิทัศน์ของภาคธุรกิจโดยรวม เปลี่ยนแปลงไป และ การคอร์รัปชันในทุกรูปแบบจะกลายเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจที่ภาคธุรกิจไม่สามารถทนรับได้อีกต่อไป CAC ตั้งใจจะใช้พลังและความรู้ที่ได้รวบรวมมาจากเครือข่ายธุรกิจสะอาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาระบุจุดสำคัญที่เป็นปัญหา (pain points) ในกระบวนการให้บริการของภาครัฐซึ่งอ่อนไหวกับความเสี่ยงคอร์รัปชัน พร้อมทั้งช่วยแสวงหาและพัฒนาแนวทางในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวให้ลดลง ทั้งนี้ บทเรียนจากประสบการณ์ของ CAC โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการรับรองบริษัทต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นโมเดลเพื่อช่วยให้โครงการต่อต้านคอร์รัปชันประเทศอื่นๆ นำไปพัฒนาปรับใช้ตาม หรือใช้เป็นฐานในการพัฒนามาตรฐานการรับรองบริษัทในระดับภูมิภาค
คอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัญหาที่ท้าทายที่สุดของประเทศไทย มันเป็นปัญหาเชิงระบบที่เกิดจากหลายๆ ปัจจัยมาประกอบกันทั้งระบบอุปถัมภ์ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ระบบธรรมาภิบาลที่อ่อนแอในภาครัฐและการที่คนทั่วไปยอมรับว่าการคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบไทยๆ การจะขจัดคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทยไม่สามารถอาศัยกลไกภาครัฐเพียงด้านเดียวได้ แต่ต้องมีการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจเอกชนในการจัดการกับฝั่งขาจ่าย หรือด้านอุปทานของสมการคอร์รัปชันด้วย